เครื่องถ้วยนนยา : ลวดลายความเชื่อบนถ้วยชามรามไหของชาวจีนเปอรานากันในสิงคโปร์

หน้าแรก ย้อนกลับ เครื่องถ้วยนนยา : ลวดลายความเชื่อบนถ้วยชามรามไหของชาวจีนเปอรานากันในสิงคโปร์

เครื่องถ้วยนนยา : ลวดลายความเชื่อบนถ้วยชามรามไหของชาวจีนเปอรานากันในสิงคโปร์

ที่มา https://www.freepik.com/home 

เครื่องถ้วยนนยา : ลวดลายความเชื่อบนถ้วยชามรามไหของชาวจีนเปอรานากันในสิงคโปร์

         ถ้วยชามรามไห มีกรรมวิธีและลวดลายแตกต่างกันไปตามเอกลักษณ์ของคนพื้นถิ่น ซึ่งอาจมีที่มาจากธรรมชาติ วัฒนธรรม หรือความเชื่อทางศาสนา เฉกเช่น “เครื่องถ้วยนนยา” ที่ไม่เพียงสะท้อนความเชื่อเรื่องศาสนาและโชคลาภของชาวจีนเปอรานากันเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงรสนิยมหรูหราของพวกเขาได้เป็นอย่างดี

‘เปอรานากัน’ ชาติพันธุ์ลูกผสมจากชนชาติจีน-มลายู

         เปอรานากัน หรือ บ้าบ๋า-ย่าหยา มีที่มาจากการเดินทางเข้ามาค้าขายของชาวจีนฮกเกี้ยนในบริเวณคาบสมุทรมลายูซึ่งครอบคลุมถึงประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ โดยพ่อค้าชาวจีนเข้ามาแต่งงานกับหญิงชาวมลายูและสร้างครอบครัวจนกลายเป็นวัฒนธรรมลูกผสมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น คําว่า “เปอรานากัน” มาจากภาษามลายูแปลว่า “เกิดที่นี่” ส่วน “บ้าบ๋า-ย่าหยา” เพี้ยนมาจากคําว่า “บาบา นนยา” (Baba Nyonya) ในภาษามลายู ชวา และจากคําว่า “บาบาเหนียงเร่อ” (Baba Niangre: 峇峇娘惹) ในภาษาจีน ซึ่งคําว่า ‘บ้าบ๋า’ เป็นคําเรียกชายลูกครึ่งจีนมลายู และ ‘ย่าหยา’ เป็นคําเรียกหญิงลูกครึ่งจีนมลายู อีกทั้งคําดังกล่าวยังเป็นคําเรียกติดปากชาวเปอรานากันที่อาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง ตรัง และสตูลในบางพื้นที่ของประเทศไทยอีกด้วย

       ชาวเปอรานากันที่สืบเชื้อสายมาจากพ่อค้าชาวจีนมักมีฐานะร่ำรวยและมีวัฒนธรรมการใช้จ่ายที่สุรุ่ยสุร่าย สังเกตได้จากบ้านหรือคฤหาสน์ของผู้ที่มีฐานะซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องเรือน เครื่องประดับหรูหรา หรือแม้กระทั่ง “เครื่องถ้วยนนยา” ที่หล่อหลอมมาจาวัฒนธรรมจีนและมลายูจนเกิดเป็นเครื่องถ้วยที่ไม่ได้มีเพียงความสวยงาม เท่านั้นแต่ยังแฝงไปด้วยความเชื่อเรื่องโชคลาภและความเชื่อด้านศาสนา

“ชุดถ้วยกาน้ำชา โถ และจาน ลายหงส์และดอกโบตั๋นแบบเปอรานากัน”

ที่มา Peranakan style satun บ้านกวางทอง สตูล
 

กรรมวิธีและความเชื่อผ่านลวดลาย ‘เครื่องถ้วยนนยา’

          เครื่องถ้วยนนยา (Nyonya Wares) เป็นเครื่องถ้วยประเภทลงยาสีบนเคลือบที่มีกรรมวิธีซับซ้อน ทั้งยังอาศัยความชำนาญเพื่อให้ได้สีสันและลวดลายที่สะดุดตา ดังนั้นเครื่องถ้วยนนยาจึงมีราคาแพงและหาซื้อได้ยาก โดยคําว่า “นนยา” เป็นคําภาษาชวาที่ยืมมาจากคําว่า “dana” ในภาษาดัตช์ แปลว่า “หญิงลูกครึ่งจีนมลายู”

         กรรมวิธีการทําเครื่องถ้วยนนยานั้น ขั้นตอนแรกจะเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เรียกว่า “การเผาดิบ” จากนั้นจึงนำไปชุบน้ำเคลือบแล้วเผาอีกครั้งด้วยอุณภูมิที่สูงขึ้นก่อนจะได้เป็นภาชนะเคลือบสีขาวแล้วจึงนำไปลงยาสี หรือ “การลงยา” ซึ่งเป็นการนำน้ำเคลือบผสมกับน้ำมันการบูรทําให้สีแห้งเร็วและทําให้สีบนภาชนะมีความสดใส จากนั้นจึงเผาครั้งสุดท้ายจึงเป็นการสิ้นสุดกรรมวิธี โดยเครื่องถ้วยนนยามักทําลวดลายแบบจีนโบราณมีดอกไม้และนกนานาชนิด เช่น ลายหงส์ท่ามกลางดอกโบตั๋น เป็นสัญลักษณ์ของการมีทรัพย์สมบัติ ความสงบ ความสวยงาม และความรัก ลายนกฟีนิกส์เป็นสัญลักษณ์ของความดีและความสง่างาม และลายดอกโบตั๋นซึ่งคนจีนเชื่อว่าเป็นราชาแห่งหมู่มวลดอกไม้ เป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งและเกียรติยศ ส่วนขอบปากจานหรือถ้วยชามจะมีลักษณะหยักเป็นรูปกลีบดอกไม้ตกแต่งด้วยลายยู่อี่ (Ju-I) สีเหลืองและสีชมพู หมายถึง การมีอายุยืนนานและสมปรารถนาในทุกสิ่งที่ประสงค์ หรือตกแต่งด้วยลายพุทธมงคลแปด อาทิ ธรรมจักร ฉัตร สังข์ ธง แจกัน ดอกบัว และปลาคู่อันสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อทางพุทธศาสนามหายานและความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้สีของเครื่องถ้วยนนยาจะใช้เทคนิคแบบตะวันตกคือการเน้นสีสด และเปลี่ยนไปตามรสนิยมของเจ้าของ เช่น สีเขียวอ่อน เขียวเข้ม สีฟ้า
สีน้ำเงิน สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีชมพู หรือมีชมพูอมม่วงร่วมด้วย

         แม้เครื่องถ้วยนนยาจะไม่สามารถหาซื้อในตลาดการค้าศิลปวัตถุโบราณได้แล้วในปัจจุบัน ทว่าลวดลาย
ต่าง ๆ บนเครื่องถ้วยยังคงบอกเล่าความเชื่อและวิถีชีวิตของชาวเปอรานาตั้งแต่อดีตสืบต่อมาในยุคสมัยใหม่
เพื่อให้ลูกหลานเปอรานากันได้รับรู้รากวัฒนธรรมของตนเอง และตระหนักถึงความเชื่อซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่อง
งมงายแต่ยังสลักมันไว้ในสิ่งของรอบตัวเพื่อให้ทุก ๆ สิ่งเต็มไปด้วยเรื่องที่ดี

ช่อฟ้า หงษ์สิทธิชัยกุล. (2565). ร้อยเรื่องเครื่องสำรับบาบ๋า-ย่าหยาภูเก็ต สายสัมพันธ์ไทยจีน-มลายูสู่เครื่องประดับร่วมสมัย วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร. http://ithesis-ir.su.
ac.th/dspace/handle/123456789/4091

ปริวรรต ธรรมาปรีชากรและนิสิต มโนตั้งวนพันธุ์. (2553). เรียนรู้วัฒนธรรมเปอรานากัน (บ้าบ๋า ย่าหยา)
จากเครื่องถ้วยนนยา. วารสารนักบริหาร, 30(3), 62-67. https://www.bu.ac.th/knowledgecenter/
executive_journal/july_sep_10/pdf/aw8.pdf

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง ภูเก็ต. (2563). ชามลายน้ำทอง(เครื่องถ้วย). สืบค้น 14 มกราคม, 2567 จาก https://shorturl.asia/HhLlf

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง ภูเก็ต. (2563). ชุดเครื่องถ้วยจีน. สืบค้น 14 มกราคม, 2567 จาก https://shorturl.asia/cvkL4

อติยศ สรรคบุรานุรักษ์และศศิณัฎฐ์ สรรคบุรานุรักษ์. (2561). เปอรานากัน : บาบ๋า-ย่าหยามรดกทางวัฒนธรรมสายเลือดลูกผสมมลายู-จีน. Veridian E-Journal Silpakorn University ฉบับภาษาไทย มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ, 11(3), 2741-2748. https://he02.tcithaijo.org/index.php/
Veridian-E-Journal/article/view/162171/116970

แชร์ 70 ผู้ชม

คติความเชื่อ

องค์ความรู้